บทความ เรื่อง บวชชีพราหมณ์ แล้วได้อะไร |Kuiburi|กุยบุรี



คำว่า บวช หรือบรรพชา คืออุบายวิธีในการงดเว้นจากบาป 
และเป็นวิธีที่จะได้บำเพ็ญบุญกุศลอย่างสูงสุดเพื่อบรรลุถึงความบริสุทธิ์ ความสุข ความสงบอย่างประณีต 

แต่เมื่อไม่ได้บวชก็ไม่มีโอกาส เพราะยังต้องผูกพันอยู่กับบ้านเรือน ลูกเมียและกิจการงานมากมายหลายชนิด เพราะคนที่ยังเกี่ยวข้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ จะไม่สามารถปลีกตัวออกไปบำเพ็ญเพียรได้อย่างเต็มที่ 

ฉะนั้น ผู้ที่บวชเราจึงเรียกว่า อนาคาริยะ แปลว่า ผู้มีศรัทธาบวชออกจากเรือน เป็นผู้ไม่มีเรือน

จุดประสงค์ของการบวชในสมัยพระพุทธเจ้า
การบวชเริ่มแรกนั้นเน้นอยู่ที่การปฏิบัติตนให้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง 
คือเพื่อบรรลุพระนิพพาน อันเป็นการดับสิ้นสุดแห่งกิเลส ไม่เกิดขึ้นมาอีก 
และเพื่อความสงบสุขของชาวโลก เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก

บวชแล้วได้อะไรบ้าง

ในบางครั้งถ้าคนบวชมาแล้ว แต่ถ้ายังปฏิบัติไม่ถึงที่สิ้นทุกข์ 
ก็เปรียบได้กับคนถือเอาส่วนประกอบของต้นไม้ ๕ ประเภท คือ [1]

๑. บวชได้กิ่งใบของต้นไม้ คือบวชแล้วได้ลาภสักการะ 
และความสรรเสริญก็ดีใจ มัวเมาประมาทในสิ่งเหล่านี้ เหมือนคนต้องการแก่นไม้ ไปพบต้นไม้มีแก่นแล้วคิดว่ากิ่งใบนั่นแหละคือแก่นจึงถือเอากิ่งใบไป 
เปรียบแล้วคือบวชแล้วได้ลาภสักการะ

๒. บวชได้กะเทาะเปลือก คือบวชแล้วไม่ประมาท บำเพ็ญศีลให้เต็ม ก็ดีใจเพียงเท่านี้ไม่ทำต่อจนถึงทางพ้นทุกข์ เหมือนคิดว่ากะเทาะเปลือกคือแก่นของต้นไม้

๓. บวชได้เปลือก คือบวชแล้วบำเพ็ญศีลให้เต็มสำเร็จ และทำสมาธิให้สำเร็จต่อไป 
แต่ยังไม่ปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ เหมือนคนคิดว่าเปลือกคือแก่นจึงตัดเอาเปลือกไป

๔. บวชได้กระพี้ บวชแล้วบำเพ็ญศีลให้เต็มสำเร็จ และทำสมาธิให้สำเร็จต่อไป 
และได้ทำความเห็นให้ถูกต้องจนได้ปัญญา แต่ยังไม่ปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ 
เหมือนคนคิดว่ากระพี้คือแก่น จึงเอากระพี้ไป

๕. บวชได้แก่น คือบวชแล้วไม่ประมาทบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญาให้เต็มบริบูรณ์ 
ปฏิบัติจนได้วิมุตติคือความหลุดพ้นจากกิเลส 
ประเภทที่ ๒ ขึ้นมานับว่าเป็นการบวชที่ดีมาโดยลำดับ

จะบวชให้ดี ต้องประพฤติอย่างไร [2]
๑. ต้องสำรวมระวังปฏิบัติพระวินัย มีความเกรงกลัวละอายใจในโทษแม้เล็กน้อย 
สำรวมตาหู เป็นต้น เว้นสิ่งที่ควรเว้น 
ตลอดจนคิดถึงเรื่องที่จะทำให้กิเลสฟุ้งขึ้นมาหรือให้ล่วงละมิดพระวินัย

๒. ตั้งใจศึกษาให้ทราบชัดว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด และปฏิบัติให้ถูกต้อง

๓.ควบคุมจิตใจให้สงบ เว้นการกระทำหรือวิธีที่จะจำให้จิตกำเริบฟุ้งซ่านออกไปนอกทาง 
เมื่อรักษาจิตให้สงบได้ ก็สามารถที่จะรักษาทุกอย่างให้สงบได้

๔. ทำความเห็นให้ถูกต้องตรงต่อพระธรรมวินัย 
เพราะจะประพฤติเรื่องใดก็จะเป็นการดีเพราะเรามีความเห็นที่ถูกต้อง 
ถ้าคิดว่าพระวินัยไม่เหมาะแก่ตนหรือตนเองบวชในระยะเวลาที่สั้น 
จะทำให้ความตั้งใจที่ประพฤติปฏิบัติอ่อนลงไป จะได้รับสิ่งที่ไม่ดีมาแทน

๕. ฝึกปราบตนให้ละความพยศร้ายที่เคยมีมา ใช้คุ้นเคยต่อความดี จนให้ถึงระดับที่ว่า 
ทำความชั่วได้ยาก ทำความดีได้ง่าย ต้องทำตนให้ห่างหนีจากความชั่ว 
ให้ใกล้ชิดกับความดี เหมือนองคุลีมาล

๖. ตั้งใจให้ถือเอาประโยชน์จากการบวชให้ได้ ตามความสามารถด้วยตั้งใจในการปฏิบัติในสิกขาทั้ง ๓ 
คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างธรรมดาที่สุดต้องปฏิบัติรักษาพระวินัยให้บริสุทธิ์ 
เมื่อปฏิบัติได้ดีในส่วนหนึ่ง ได้ตั้งใจดีต่อคุณธรรมขั้นสูง ที่ยังไม่ได้บรรลุ 
ก็ชื่อว่าปฏิบัติและตั้งใจถูกทางในการบวช

บวชนี้ดีอย่างไร
๑. ได้ประพฤติความดีอย่างสูงส่งอย่างน้อยก็สูงกว่าคฤหัสถ์ 
ฉะนั้นญาติโยมจึงกราบไหว้เคารพบูชา ถ้าประพฤติเสมอกันเขาก็ไม่จำเป็นต้องกราบไหว้ 
เช่นพ่อแม่กราบลูกผู้บวชแล้ว เพราะถือว่าทรงเพศและมีความประพฤติที่ดีสูงส่ง

๒. ได้ทำสิ่งที่ได้รับนิยมยกย่องว่าดี สิ่งทั้งหลายที่นอยมว่าดีนั้น ถ้าได้ประสบพบผ่านก็เป็นลาภของตนแต่ละอย่าง

๓. ได้เข้าใกล้ชิดพระธรรมวินัย ได้เข้าเนื่องในพระสังฆรัตน์ ได้เป็นพุทธศาสนิกชนจริงๆ ได้สืบอายุพระพุทธศาสนา 
เพราะได้ปฏิบัติดี….
เพราะถ้านับถือพระพุทธศาสนาสักว่าแต่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมในศาสนาอย่างใด 
หรือปฏิบัติธรรมที่ศาสนาอื่นๆ ก็มี ยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง 
เมื่อได้ปฏิบัติธรรมที่เป็นส่วนพิเศษ อันมีเฉพาะในพระพุทธศาสนา จึงชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง
ที่ชื่อว่าได้สืบต่อพระพุทธศาสนา ก็เพราะพระพุทธศาสนาสืบต่อมาได้ด้วยมีผู้ออกบวช 
ปฏิบัติสืบต่อกันมา ถ้าไม่มีผู้ออกบวช พระพุทธศาสนาก็คงจะหายไป 

ถ้ามีคำถามว่า ถ้าเรียนรู้และปฏิบัติอย่างคนสามัญทั่วไปก็ได้ ทำไมต้องบวช 
ตอบว่าก็ได้บุญอย่างคนทั่วไป แต่ไม่ได้เหมือนผู้บวชเหมือนการตัดลำต้นไม้ทิ้ง 
ในที่สุดจะไม่มีกิ่ง แม้การบวชชั่วคราว ก็ชื่อว่ารักษาศาสนาได้ เพราะเข้ามาสืบต่อรักษาลำต้นไว้

๔. ได้ทำความปลื้มปีติและเพิ่มพูนบุญกุศลให้พ่อแม่ ญาติพี่น้อง มารดาบิดาที่เป็นพุทธศาสนิกชนโดยมากเมื่อมีบุตรก็มักปรารถนาให้ได้บวช หรืออย่างน้อยก็รู้ว่าอาจจะได้บวชลูก และเมื่อได้บวชก็มีความปลื้มปิติ เพราะได้สำเร็จสมประสงค์ในการที่เรียกว่าเป็นบุญอย่างสูง และได้ให้อริยทรัพย์(ทรัพย์ที่ประเสริฐ)แก่ลูกของตน

๕. ได้รับประกันว่าตนเองสามารถประพฤติความดีได้ เพราะการบวชที่เป็นการบวชที่ดี 
ต้องประพฤติพระธรรมวินัยอย่างประณีต เมื่อบวชแล้วประพฤติดีได้ในระยะเวลาหนึ่ง 
ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้ารับประกันความดีให้แล้ว

๖. ได้เข้ามาสร้างนิสัยอุปนิสัยที่ดี เพราะการบวชเป็นการอบรมบ่มนิสัยให้ดี 
มีพระธรรมวินัยเป็นเครื่องอบรม มีพระอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นผู้ช่วยอบรม 
และดำรงตนเองอยู่ในแวดล้อมของเพื่อนที่ประพฤติธรรมร่วมกัน ช่วยห้ามไม่ให้ตกไปสู่สิ่งที่ไม่ดี

๗. ได้ปฏิบัติหน้าทีของลูกผู้ชาย เพราะลูกผู้ชายในประเทศไทยต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ ๒ อย่างคือ 
เป็นทหารรับใช้ประเทศชาติ ป้องกันชาติของตนเอง และบวชในพระพุทธศาสนา เพื่ออบรมบ่มนิสัยให้เป็นคนดี

********
การบวชที่มีมาเพิ่มเติม
๑.การบวชเพื่อหนีภัย คือเมื่อมีภัย เช่น ถูกตามฆ่า หรือมีคนจะมาทำร้ายก็เข้ามาบวชเพื่อหลีกเลี่ยงหรือหลีกหนีจากภัยนั้น เช่น สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พระเทียรราชา บวชหนีภัยเมื่อถูกกล่าวหาเป็นผู้วางยาพิษพระไชยราชาธิราช 
กษัตริย์ราชวงศ์สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงศรีอยุธยาศรีรามเทพนคร 
โดยบวชเป็นเวลากว่า ๒ ปี 
ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเกิดจลาจล พวกข้าราชบริพารจึงกราบทูลให้ลาผนวชต่อมาทรงเป็นพระมหากษัตริย์ คือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์(พระเจ้าช้างเผือก) พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๗ แห่งกรุงศรีอยุธยาศรีรามเทพนคร 

๒. บวชเพื่อการเมือง เช่น ภายหลังการปฏิวัติของพลังนักศึกษาและประชาชน วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ 
จอมพลถนอม กิตติขจรได้เดินทางออกนอกประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้บวชเป็นสามเณรจากประเทศสิงคโปร์เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทำให้ประชาชนไม่พอใจมีการต่อต้าน 
ทำให้เกิดวันมหาวิปโยค ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ 
แต่การบวชแบบนี้ไม่ดีเพราะทำให้ประชาชนคนไทยต้องมาฆ่าฟันกันเอง

[3] อนุสรณ์งานพระราชเพลิงศพ พระราชบัณฑิต(แจ่ม ธัมมสาโร) 
โรงพิมพ์มหามกุกราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๕๒๙


คำค้นหาาบทความ :  วัดกุยบุรี , กุยบุรี หลวงพ่อในกุฏิ, kuiburiธรรมะออไลน์,สถานีวิทยุชุมชนวัดกุยบุรี ,ศูนย์เด็กเล็กวัดกุยบุรีมูลนิธิหลวงพ่อในกุฏิวัดกุยบุรี สถานีธรรมะออนไลน์วัดกุยบุรี,เที่ยววัดกุยบุรี

Tag:วัดกุยบุรีสถานีธรรมะออนไลน์

 
Copyright 2011 @ วัดกุยบุีรีสถานีธรรมะออนไลน์|วัดกุยบุรี|กุยบุรี|หลวงพ่อในกุฏิ!
Design by Wordpress Manual | Bloggerized by Free Blogger Template and Blog Teacher | Powered by Blogger